กฎหมาย

กฎหมาย  law หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

ที่มาของกฎหมาย
ที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร

1.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น

2.จารีตประเพณี ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย


3.หลักกฎหมายทั่วไป ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้น


ที่มาของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

1.จารีตประเพณีถือว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ


2.คำพิพากษาของศาลจารีตประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร


3.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาลบางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย


4.ความเห็นของนักนิติศาสตร์ ระบบกฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้


5.หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีซึ่งเรียกว่ามโนธรรมของผู้พิพากษา(Squity)ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ประเภทของกฎหมาย

การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้แบ่งว่าจะใช้อะไรเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งอย่างคร่าว ๆ ก่อนโดยแบ่งกฎหมายออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กฎหมายภายใน ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยองค์กรที่มีอำนาจภายในรัฐหรือประเทศ และกฎหมายภายนอก ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นจากสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
กฎหมายภายใน และกฎหมายภายนอก ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกหลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้


กฎหมายภายใน แบ่งได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้


1.ใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์การแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1กฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น
1.2กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารีตประเพณีต่าง ๆ ที่นำมาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่มาของกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่จะยกมาปรับแก้คดีได้ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น”


2.ใช้สภาพบังคับกฎหมายเป็นหลักในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา ได้แก่ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีโทษตามบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฯลฯ เป็นต้น
2.2กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่งสภาพบังคับทางแพ่งมิได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนสภาพบังคับทางอาญาแต่ก็อาจสังเกตได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การบังคับชำระหนี้ การชดใช้ค่าเสียหาย หรืออาจสังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ กฎหมายใดที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญา ก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง


3.ใช้บทบาทของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
3.1กฎหมายสารบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดโดยทั่วไปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติ
3.2กฎหมายวิธีสบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปใช้ว่าเมื่อมีการทำผิดบทบัญญัติกฎหมาย จะฟ้องร้องอย่างไร จะพิจารณาตัดสินอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ กฎหมายวิธีสบัญญัติก็คือ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการเอาตัวผู้กระทำผิดไปรับสภาพบังคับนั่นเอง เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวงกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น


4.ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
4.1กฎหมายเอกชน ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด เป็นต้น
4.2กฎหมายมหาชนได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐเป็นผู้ปกครองจงต้องมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ เป็นต้น


กฎหมายภายนอก กฎหมายภายนอก หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ


1.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ได้แก่ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐที่จะปฏิบัติต่อกันเมื่อมีความขัดแย้งหรือเกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ หรือได้แก่ สนธิสัญญา หรือเกิดจากข้อตกลงทั่วไป ระหว่างรัฐหนึ่งกับรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เป็นคู่ประเทศภาคีซึ่งให้สัตยาบันร่วมกันแล้วก็ใช้บังคับได้เช่น สนธิสัญญาไปรษณีย์สากล เป็นต้น


2.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งข้อพิพาทขึ้นจะมีหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาตัดสินคดีความอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น ประเทศไทยเรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกับแห่งกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับกับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยกับบุคคลที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ

3.กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ได้แก่ สนธิสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งประเทศหนึ่งยินยอมหรือรับรองให้ศาลของอีกประเทศหนึ่งมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีและลงโทษบุคคลประเทศของตนที่ไปกระทำความผิดในประเทศนั้นได้ เช่นคนไทยไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาแล้วกระทำความผิด ศาลสหรัฐอเมริกาก็พิจารณาตัดสินลงโทษได้หรือบุคคลประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เป็นการยากลำบากที่จะนำตัวมาลงโทษได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้ประเทศที่ผู้กระทำความผิดหนีเข้าไปจับตัวส่งกลับมาลงโทษ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรม ปัจจุบันนี้ประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และอิตาลี ฯลฯ เป็นต้น




ประเภทกฎหมาย
การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท
1. กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้


(1) รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนั้น ๆ ต่อกันและกัน ลักษณะทั่วไปคือ
ก. กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุด อำนาจอธิปไตย ใครเป็นเจ้าของ (มาตรา 3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้)
ข. รัฐธรรมนูญต้องมีข้อความกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการต่อกันและกัน


(2) กฎหมายปกครอง ได้แก่กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลงจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยอำนาจการปกครองประเทศแต่กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปกครอง ซึ่งในกฎหมายนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบแห่งองค์การปกครอง (เช่น จัดแบ่งออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือ เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ ความเกี่ยวพันระหว่างองค์การเหล่านี้ต่อกันและกัน และความเกี่ยวกับระหว่างองค์การเหล่านี้กับราษฎร) กฎหมายปกครองไม่ได้รวบรวมขึ้นในรูปของประมวลกฎหมาย กฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขากฎหมายปกครองเป็นจำนวนมาก อาทิ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล


(3) กฎหมายอาญา ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดและโทษ แยกพิจารณาได้ดังนี้
การบัญญัติความผิด หมายความว่า การบัญญัติว่าการกระทำและการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญา การบัญญัติโทษ หมายความว่า เมื่อใดบัญญัติว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว ก็ต้องบัญญัติโทษอาญาสำหรับความผิดนั้นไว้ด้วย


ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ภาค 2 ความผิด ภาค 3 ลหุโทษ ภาค 1 ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นได้ด้วย
หลักเกณฑ์สำคัญ ของประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้
(1) จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย [1]
(2) จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย โทษอย่างไรก็ต้องลงอย่างนั้น จะให้ลงโทษอย่างอื่นไม่ได้
(3) จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด
(4) การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย อุดช่องว่าเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้
(5) จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้จากความรับผิดไม่ได้(มาตรา64)


หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญา มี 3 ข้อ
1. ต้องมีการกระทำ
2. การกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
3. ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ หรือ ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด


(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลและของผู้พิพากษา มีหลักการดังนี้
(1) หลักอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ต้องเป็นของศาลโดยเฉพาะ
(2) หลักการจัดตั้งศาล จัดตั้งศาลต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติ
(3) หลักการห้ามตั้งศาลพิเศษ
(4) หลักการผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ 2 ประการ คือ
(ก) การแต่งตั้ง ย้าย ถอดถอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งและถอดถอนหรือโยกย้ายได้
(ข) การเลื่อนตำแหน่งการเลื่อนเงินเดือน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการ หลักประกันทั้ง 2 ประการ ดังกล่าวทำให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารจะให้คุณหรือโทษผู้พิพากษาไม่ได้ คณะกรรมการตุลาการเป็นคนกลางไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหาร


(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการที่จะนำตัวผู้กระความความผิดมารับโทษตามความผิดที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา เริ่มตั้งแต่ ขอบเขตของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาลในการพิจารณาคดี หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคดีเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ


(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) หลักการเริ่มคดีอยู่ที่คู่ความ ไม่ว่าจะเป็นตัวฟ้องก็ดี คำให้การก็ดี หรือคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีแพ่งก็ดี คู่ความจะต้องระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
(2) การพิจารณาดำเนินไปโดยเคร่งครัดต่อแบบพิธี เช่นว่า การยื่นเอกสารจะต้องยื่นต้นฉบับ หรือกรณีใดยื่นสำเนาเอกสารได้ เป็นต้น เพราะการปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจมีผลให้ศาลไม่รับฟังพยานเอกสารนั้น
(3) ไม่จำเป็นต้องถือเอาความสัตย์จริงเป็นใหญ่ เพราะคู่ความต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เช่น คดีฟ้องของเรียกเงินกู้ ความจริงมิได้กู้ แต่จำเลยเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย จึงยอมรับว่ากู้มาจริง ศาลก็ต้องพิพากษาให้เป็นไปตามฟ้องของโจทก์และคำรับของจำเลย เว้นแต่ในกรณีที่ศาลอาจยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาอ้างได้ ศาลอาจวินิจฉัยไปโดยไม่ฟังคำรับของคู่ความก็ได้




2. กฎหมายเอกชน(Private Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข. ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้ มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้ ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ โดยสรุป
(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายแบ่งแยกออกเป็นหลายลักษณะด้วยกัน เช่น นิติกรรมสัญญา หนี้ ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ละเมิด ตัวแทน นายหน้า เป็นต้น ในแต่ละลักษณะได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ ในการศึกษากฎหมายของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย จะมีการศึกษาถึงเนื้อหารายละเอียดในกฎหมายนั้น ๆ แต่ละลักษณะ แต่ในที่นี้ที่กล่าวถึงไว้ก็เพียงเพื่อให้ทราบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน เท่านั้น
(2) กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน อันมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนยังมีอยู่อีกมาก อันได้แก่พระราชบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษอื่น อย่างเช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจำกัดสิทธิในการมีที่ดินของบุคคลบางประเภท เช่น คนต่างด้าว เป็นต้น พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งกฎหมายมหาชนและกึ่งกฎหมายเอกชน เพราะมีบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง




3. กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้ 3 สาขา คือ
(1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กำหนดข้อบังคับการทำสงครามระหว่างกันและกัน
(2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีบุคคล คือ ในทางเอกชนหรือในทางแพ่ง กฎหมายนี้จะกำหนดว่าถ้าข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง เช่น การสมรสกับหญิงที่เป็นคนต่างด้าว หรือการซื้อขายของที่อยู่ในต่างประเทศจะใช้กฎหมายภายในประเทศ (คือกฎหมายไทย) หรืออาจใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่คดีนั้น ๆ
(3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันทางคดีอาญา เช่น กำหนดว่าการกระทำความผิดนอกประเทศในลักษณะใดบ้างจะพึงฟ้องร้องในประเทศไทย ตลอดจนวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น




วิวัฒนาการของกฎหมายไทย




สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของฮินดู ซึ่งเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการแกครองแต่เพียงผู้เดียว ต้องปกครองบ้านเมืองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยความเป็นธรรม ยุติธรรม และมีเมตตาธรรม และพระราชศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์สร้างขึ้นจากการวินิจฉัยอรรถคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและสะสมต่อ ๆ กันมา โดยยึดหลักว่า จะต้องสอดคล้องกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นเอง โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยามีเป็นจำนวนมากตามความต้องการและความจำเป็นในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น กฎหมายลักษณะอาญาหลวง กฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายลักษณะโจร กฎหมายลักษณะผัวเมีย ฯลฯ เป็นต้น


สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้มีการรวบรวมและตรวจชำระกฎหมายครั้งใหญ่ ฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กระจัดกระจาย ชำรุด หรือสูญหาย เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 โดยนำมารวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ แก้ไขความคลาดเคลื่อน ความไม่ยุติธรรมที่ตรวจพบ และเพิ่มเติมในบางส่วนที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง


สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากปัญหาการบังคับใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ของชาติตะวันตก ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ทรงโปรดให้มีการปฏิรูปการศาลยุติธรรมและระบบกฎหมายครั้งใหญ่ โดยจัดระเบียบการศาลยุติธรรมใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายตามคำกราบบังคมทูลของกรมหลวงราชบุรดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นครูสอนกฎหมายเองด้วย และทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งประกอบด้วยนักกฏหมายไทยและต่างประเทศ คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำการร่างและประกาศใช้ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย ต่อมามีการปรับปรุงอีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2486 และ 2499 เรียกว่า ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยต่อ ๆ มาก็ได้มีการร่างและประกาศใช้ประมวลกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิถีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฯลฯ เป็นต้น


การปฏิรูปกฎหมายศาลยุติธรรมและการประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ทำให้ประเทศไทยหมดยุคกฎหมายเก่า และเข้าสู่ยุคขบวนกฎหมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา






การจัดทำกฎหมายไทย


ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบประมวลกฎหมาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันมีการจัดทำกฎหมายขึ้นใช้หลายรูปแบบ เรียงตามลำดับฐานะหรือความสำคัญของกฎหมาย4 จากสูงไปต่ำ ดังนี้ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พระราชกำหนดประมวลกฎหมาย) พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และกฎหมายท้องถิ่น การจัดทำกฎหมายรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ มีขั้นตอนและวิธีการแตกต่างกัน ดังนี้






การจัดทำรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประชาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบการบริหารประเทศ ผู้ที่มีอำนาจจัดหาสูงสุดในการปกครองประเทศขณะนั้น ไม่ว่าจะได้อำนาจมา โดยวิธีใดก็ตาม อาจจะเป็นประมุขของประเทศ หรือหัวหน้าคณะปฏิวัติหรอรัฐประหาร ที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองจากการใช้กำลัง มาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ที่มีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง การจัดทำรัฐธรรมนูญอาจกระทำอย่างรวบรัด ตั้งแต่การยกร่าง การพิจารณาโดยไม่เปิดเผย แล้วประกาศใช้เลยก็ได้ แต่โดยหลักการแล้วเท่าที่ผ่านมา หัวหน้าคณะปฏิวัติจะถวายอำนาจการตรารัฐธรรมนูญแต่พระมหากษัตริย์ โดยนำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้ เช่น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 และ พ.ศ. 2520 เป็นต้น


ในสถานการณ์ปกติ การจัดทำรัฐธรรมนูญ จะมีการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างและพิจารณา อาจเรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ เมื่อยกร่างและพิจารณาเสร็จแล้วก็จะนำขึ้นทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้โดยมีสภาดังกล่าวเป็นผู้รับสอนพระบรมราชโองการ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับปัจจุบัน เป็นต้น






การจัดทำพระราชบัญญัติ


พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มีขั้นตอนและวิธีการดังนี้


การเสนอร่างพระราชบัญญัติ


ผู้ที่มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคการเมืองที่สังกัดมีมติให้เสนอได้ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000คน เสนอร่างพระราชบัญญัติได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ หรือแนวนโยบายแห่งรัฐ ร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองด้วย


การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ


ผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ รัฐสภา โดยต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณา


การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ


วาระที่ 1 รับหลักการ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเฉพาะ หลักการของร่างพระราชบัญญัติว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง มีความเหมาะสม จำเป็นหรือไม่ โดยไม่พิจารณารายละเอียดอื่น ๆ แล้วลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ถ้าไม่รับหลักการก็ตกไป ถ้ารับหลักการก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณารายละเอียด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนมีสิทธิเสนอขอเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ต่อประธานคณะกรรมาธิการ เรียกว่า แปรญัตติ


วาระที่ 2 แปรญัตติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ที่มีการขอแปรญัตติ และลงมติเฉพาะมาตรานั้นว่าจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ หรือคงไว้ตามเดิม


วาระที่ 3 ลงมติให้ความเห็นชอบ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมใด ๆ อีกไม่ได้ ถ้าไม่เห็นชอบก็ตกไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป


การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา


วุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมา โดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 30 วัน ถ้าไม่เสรีที่ประชุมอาจลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น


การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 105 วัน และวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 20 วัน ถ้าไม่เสรีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบ


ถ้าวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลา 180 วันได้ล่วงพ้นไป ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา


การตราร่างพระราชบัญญัติ


ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้ว มิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยีนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว


การประกาศใช้พระราชบัญญัติ


พระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


การจัดทำพระราชกำหนด


พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่ออกโดยผ่ายบริหาร ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แล้วนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ พระราชกำหนดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ


1. พระราชกำหนดทั่วไป จะออกได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลดภัยของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดพิบัติสาธารณะ


2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา จะออกได้ในระหว่างสมัยประชุม กรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน


การเสนอร่างพระราชกำหนด


ผู้เสนอร่างพระราชกำหนด ได้แก่ รัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้ามีความจำเป็นจะต้องขึ้นภาษีอากรอย่างรับด่วน ซึงต้องพิจารณาเป็นความลับ การขึ้นภาษีอากรนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องก้บกระทรวงพาณิชย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้เสนอ เป็นต้น


การเสนอร่างพระราชกำหนด


ผู้เสนอร่างพระราชกำหนด ได้แก่ รัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้ามีความจำเป็นจะต้องขึ้นภาษีอากรอย่างรีบด่วน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นความลับ การขึ้นภาษีอากรนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้เสนอ เป็นต้น


การพิจารณาร่างพระราชกำหนด


ผู้พิจารณาร่างพระราชกำหนด คือ คณะรัฐมนตรี โดยจะพิจารณาว่าพระราชกำหนดนั้นเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ แล้วลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้าอนุมัติก็ตกไป


การตราพระราชกำหนด


ผู้ตราพระราชกำหนด ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงปรมาภิไธย และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


การประกาศใช้พระราชกำหนด


พระราชกำหนดที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจินุเบกษาแล้ว จึงจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายพระราชกำหนดที่ประกาศใช้แล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภา ถ้าเป็นพระราชกำหนดทั่วไปจะต้องเสนอโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นโดยเร็ว ถ้าเป็นพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน การพิจารณาพระราชกำหนดของสภา จะพิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณาพระราชบัญญัติแล้วลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นตกไป สิ้นผลบังคับใช้ไม่เป็นกฎหมายอีกต่อไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ถ้ารัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป และการพิจารณาต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศใน


การจัดทำพระราชกฤษฎีกา


พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์รองลงมาจากพระราชบัญญัติ การออกพระราชกฤษฎีกาต้องอาศัยกฎหมายอื่นที่มีศักดิ์สูงกว่าซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจให้ออกได้ เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การแบ่งส่วนราชการในสำนักเลขานุการรัฐมนตรี กรม หรือส่วนรายการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ให้ตราเป็นพระราช-กฤษฎีกา เป็นต้น ดังนั้นการออกพระราชกฤษฎีกาจะขัดต่อกฎหมายแม่บทไม่ได้


การเสนอร่างพระกฤษฎีกา


ผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ เช่นพระราชกฤษฎีกา ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นผู้เสนอ เป็นต้น


การพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา


ผู้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โยพิจารณาว่าพระราชกฤษฎีกานั้น มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจออกได้หรือไม่ มีข้อความใดขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแม่บทหรือไม่


การตราพระราชกฤษฎีกา


ผู้ตราพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่าเหมาะสมและใช้ได้ก็จะนำพระราชกฤษฎีกานั้นขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา


พระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงทลพระปรมาภิไธย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


การจัดทำกฎกระทรวง


กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งรัฐมนตรีผู้รับการตามพระราชบัญญัติ ได้ออกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ดังนั้นกฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแม่บท


การเสนอกฎกระทรวง


ผู้เสนอกฎกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น กล่าวคือ เป็นเรื่องของกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ


การพิจารณากฎกระทรวง


ผู้พิจารณากฎกระทรวง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โดยจะพิจารณากลั่นกรองว่ามีข้อความใดขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทหรือขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่


การตรากฎกระทรวง


ผู้ตรากฎกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เป็นผู้ลงนามประกาศใช้


การประกาศใช้กฎกระทรวง


กฎกระทรวงที่รัฐมนตรีลงนามแล้ว เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายนอกจากนี้ยังมีประกาศกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีอกนาจออกได้โดยอาศัยกฎหมายแม่บทเช่นเดียวกับกฎกระทรวง แต่ไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้รับผิดชอบเป็นผู้ลงนาม แล้วประกาศในราชกิจจนุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


การจัดทำกฎหมายท้องถิ่น


กฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง เป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง โดยออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นตนเองได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 รูป ซึ่งสามารถออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นของตนเองได้ คือ


1. เทศบัญญัติ เป็นกฎหมายที่เทศบาลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเทศบาลนั้น ๆ


2. ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำขึ้นใช้ในเขตจังหวัดนั้น ๆ


3. ข้อบังคับตำบล เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตตำบลนั้น ๆ


4. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานคร


5. ข้อบังคับเมืองพัทยา เป็นกฎหมายที่เมืองพัทยาจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเมืองพัทยา




การบังคับใช้กฎหมาย




กฎหมายที่ผ่านกระบวนการจัดทำและประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับใช้ได้ การบังคับข้อกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย อาณาเขตที่กฎหมายใช้บังคับ และบุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ


วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย


วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะมีผลตั้งแต่เมื่อใดนั้น โดยทั่วไปในกฎหมายนั้นจะระบุวัน เวลา ที่กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ไว้ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันเดียวกันกับวันที่ประกาศใช้กฎหมายก็ได้ แต่ถ้าในกฎหมายนั้นไม่ได้ระบุวันที่จะเริ่มบังคับใช้ไว้ ก็จะมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักที่ว่า “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง” เว้นแต่บางกรณีที่มี่ความจำเป็นจะต้องบังคับใช้ย้อนหลัง ก็จะมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายนั้นว่า ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายอาจกำหนดได้ดังนี้


1. ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศกิจจานุเบกษา จะใช้ในกรณีรีบด่วนโดยให้กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้กฎหมายจะต้องไปค้นดูว่าราชกิจจานุเบกษาลงประกาศวันใด ก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันไหนเป็นต้นไป


2. ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีปกติโดยทั่วไป วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งผู้ใช้กฎหมายจะต้องไปค้นดูว่าราชกิจจานุเบกษาลงประกาศวันใดวันถัดมากฎหมายนั้นก็จะมีผลบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าก่อน 1 วัน


3. ใช้บังคับในอนาคต ในกรณีที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือประชาชน ได้จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดให้ระยะเวลาผ่านพ้นไประยะหนึ่ง จึงจะให้กำหมายมีผลบังคับใช้ เช่นพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องไปค้นดูราชกิจจานุเบกษาว่าลงประกาศวันใด แล้วต้องรอให้ผ่านพ้นไปอีกสิบห้าวัน กฎหมายนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ได้


อาณาเขนที่กฎหมายใช้บังคับ


โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับเฉพาะในอาณาเขตของรัฐนั้นหรือประเทศนั้นโดยตลอดทั่วทั้งรัฐหรือประเทศ กฎหมายจึงมีผลบังคับใช้เฉพาะในอาณาเขตประเทศไทยซึ่งเรียกว่า “ราชอาณาจักรไทย” ซึ่งหมายถึง


1.พื้นดินและพื้นน้ำในอาณาเขตประเทศไทย รวมทั้งภูเขา แม่น้ำ อุโมงค์ และใต้ดินด้วย


2.ทะเลอันห่างจากชายฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน12 ไมล์ทะเล


3.ทะเลอันเป็นอ่าวไทย


4.พื้นอากาศเหนือพื้นดินและทะเลอันเป็นอาณาเขตประเทศไทย


อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นบางกรณีเกี่ยวกับอาณาเขตกฎหมายไทยใช้บังคับคือ


กรณียกเว้นบังคับใช้ออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ การกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง เช่น ปลอมเงินตรา หรือความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง ฯลฯ เป็นต้น


กรณียกเว้นไม่บังคับใช้ตลอดทั่วราชอาณาจักร อาจจะเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ สังคม ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม เล่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498 ใช้บังคับเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีภูมิลำเนาในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าว เป็นต้น


บุคคลที่กฎหมายบังคับ


โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับแกบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นหรือประเทศนั้น กฎหมายไทยจึงมีผลใช้บังคับกับทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนสัญชาติใด เชื้อชาติใด ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นตามกฎหมายบางประเทศ ที่จะไม่ใช้บังคับกับบุคคลบางคน


ข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540


1. พระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้


2. สมาชิกรัฐสภา ในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขังหรือหมายเรียกตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีขณะกระทำความผิด ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็น สมาชิกโดยพลัน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมสภาวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้


ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง


1. ประมุของรัฐต่างประเทศ


2. ทูตและบริวาร


3. กองทัพที่เข้ามายึดครองอาณาจักร


4. บุคคลอื่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองให้ได้รับเอกสิทธิ์และคุ้มครอง


5. บุคคลที่มีกฎหมายพิเศษให้ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง เช่น บุคคลที่ทำงานในองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ ฯลฯ เป็นต้น


บุคคลและสถาบันผู้ใช้กฎหมาย


การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้องกับบุคคลและสถาบันหลายฝ่าย ได้แก่ ราษฎร เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม


ประชาชน


ในชีวิตประจำวันของประชาชนนั้น ต้องกระทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย การกระทำเหล่านั้นจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา ดังนั้นประชาชนซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง


เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ


เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ได้แก ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งพัสดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่สืบสวน จับกุม ป้องก้น และปราบปรามการทำความผิดในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีบทบาทหน้าที่มากที่สุด เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่สืบสวน จับกุม สอบสวน ตลอดจนเปรียบเทียบในคดีอาญาทั่ว ๆ ไป


พนักงานอัยการ


พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล อาจจะเป็นข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด หรือเจ้าพนักงานอื่นที่มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลก็ได้ แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีทั้งปวงแทนรัฐ โดยเป็นโจทย์ในคดีอาญา ทำหน้าที่ตรวจสำนวนการสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ (ผู้เสียหายอาจตั้งทนายเป็นโจทย์ฟ้องคดีเองก็ได้) ตลอดจนเป็นทนายโจทย์หรือทนายจำเลย ว่าความในคดีแพ่งคดีอาญาทั้งปวงให้ส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ


ทนายความ


ทนายความ หมายถึง ผู้ที่เรียนจบวิชากฎหมายและจดทะเบียนรับอนุญาตให้มีสิทธิว่าความในศาล ทนายความเป็นอาชีพอิสระ มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงเสนอต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทย์หรือจำเลย คดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตามความจริงก็ไม่มีกฎหมายห้ามประชาชนผู้เป็นโจทย์หรือจำเลยไม่ให้ว่าความด้วยตนเอง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมายลึกซึ้ง จึงจำเป็นต้องมีทนายความช่วยเหลือ บางกรณีจำเลยในคดีอาญายากจน ไม่มีเงินจ้างทนายความอาจร้องขอให้ศาลตั้งทนายว่าความให้จำเลยก็ได้ คดีประเภทนี้เรียกว่า “คดีศาลขอแรง” และทนายก็เรียกว่า “ทนายขอแรง”


ศาล


ศาล หมายถึง ศาลยุติธรรม หรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่งปวง


การตีความกฎหมาย


การตีความกฎหมาย หมายถึง การค้นหาความหมายของถ้อยคำในตัวบทกฎหมายเพื่อนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริง เนื่องมาจากการใช้กฎหมายครั้งอาจเกิดปัญหาว่า ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายไม่ชัดเจน เคลือบคลุมหรือมีความหมายได้หลายนัย จึงจำเป็นจะต้องมีการตีความกฎหมาย ซึ่งกระทำได้ 2 กรณี คือ การตีความตามตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์


การตีความตามตัวอักษร


การตีความตามตัวอักษร เป็นการค้นหาความหมายจากตัวอักษรของกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ดังนี้


1. กรณีที่เป็นภาษาสามัญ ต้องตีความหมายอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปตามธรรมดาสามัญ หรือให้ถือเอาตามพจนานุกรม


2. กรณีที่เป็นศัพท์วิชาการหรือศัพท์เทคนิค ต้องตีความหามายอย่างที่เข้าใจกันในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ


3. กรณีที่กฎหมายประสงค์จะให้มีความหมายพิเศษไปจากที่เข้าใจกันตามธรรมดาสามัญ ในกฎหมายนั้นจะทำบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามไว้ในมาตราแรก ๆ ก็ต้องถือเอาความหมายตามบทวิเคราะห์ศัพท์หรือนิยามนั้น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา บทนิยาม มาตรา 1 (11) บัญญัติว่า “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น เป็นต้น


การตีความหมายตามเจตนารมณ์


การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายหรือความต้องการของกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ ซึ่งของกฎหมายคำปรารภ ทนายเหตุท้ายมาตราต่าง ๆ รายงานการประชุมยกร่างกฎหมายนั้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่า เพราะเหตุใด หรือ ต้องการอะไร จึงบัญญัติกฎหมายไว้เช่นนี้


สำหรับกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิต และกระทบกระเทือนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การตีความกฎหมายอาญาจึงต้องมีกฎเกณฑ์พิเศษ คือ


1. ต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า จะถือเป็นความผิดและลงโทษผู้กระทำผิดได้ จะต้องเป็นกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น


2. จะตีความให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลมิได้ กล่าวคือ จะตีความขยายความให้เป็นการลงโทษ หรือเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้นไม่ได้


3. กรณีเป็นที่สงสัย จะต้องตีความในบางทีเป็นผลดีแก่ผู้กระทำความผิด กล่าวคือ ถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ยังเป็นที่เคลือบคลุม ยังสงสัย หรือไม่แน่ใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ถือว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามสุภาษิตทางกฎหมายที่ว่า “ปลอบคนผิดสิบคนดีกว่าการที่จะลงโทษคนบริสุทธิ์คนเดียว”


ช่องว่างของกฎหมาย


ช่องว่างของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถจะหาตัวบทกฎหมายปรับใช้กับดีที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผู้ยกร่างอาจจะฉีกไม่ถึง เพราะเหตุการณ์ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่ได้บัญญัติไว้ จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมาย


การอุดช่องว่างกฎหมาย


เมื่อเกิดช่องว่างของกฎหมายนี้ ถ้ากฎหมายนั้นกำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้แล้ว จะต้องทำตามวิธีการที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรค 2 และวรรค 4 กำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้ว่า เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ให้ใช้หลักกฎหมายทั่วไป ในกรณีที่กฎหมายนั้นไม่ได้กำหนดวิธีการอุดช่องว่างเอาไว้ ศาลจะต้องพยายามกาหลักเกณฑ์มาพิจารณาวินิจฉัยให้ได้เสมอ ศาลจะอ้างเหตุไม่รับฟ้องหรือยกฟ้องคดี โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายที่จะนำมาใช้ปรับแก่คดีไม่ได้ในกฎหมายอาญานั้น ศาลอาจจะอุดช่องว่างของกฎหมายได้ ก็เฉพาะในทางที่เป็นคุณหรือเป็นผลดีแก่จำเลยเท่านั้น


การยกเลิกกฎหมาย


การยกเลิกกฎหมาย คือ การทำให้กฎหมายสิ้นสุดการบังคับใช้ ซึ่งกระทำได้ทั่งการยกเลิกโดยตรงและโดยปริยาย


การยกเลิกกฎหมายโดยตรง


เป็นกรณีที่ที่มีกฎหมายระบุให้ยกเลิกไว้อย่างชัดแจ้งมีหลักเกณฑ์ดังนี้


1. กฎหมายนั้นกำหนดวันยกเลิกเอาไว้เอง เช่น บัญญัติเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปเป็นเวลาสองปี” เมื่อครบกำหนด 2 ปี กฎหมายนั้นก็สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเอง


2. ออกกฎหมายใหม่มายกเลิก โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน และมีบทบัญญัติระบุให้ยกเลิก เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นต้น


3. เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด พระราชกำหนดเมื่อประกาศใช้แล้ว จะต้องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐสภามีมติไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็จะสิ้นสุดการบังคับใช้


การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย


เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดระบุให้ยกเลิกไว้อย่างขัดแจ้ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้


1. เมื่อกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายใหม่ ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยาย


2. เมื่อกฎหมายใหม่มีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า ให้ใช้กฎหมายใหม่ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายทั้ง 2 กรณี ดังกล่าวต้องใช้กฎหมายใหม่ เพราะเหตุว่า บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา กฎหมายเก่าที่ใช้มาเป็นเวลานานอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัย การใช้กฎหมายใหม่ย่อมเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า


3. กฎหมายแม่บทยกเลิกกฎหมายบริวารถูกยกเลิกด้วย กฎหมายบริวารหรือกฎหมายลูกที่ออกมาใช้โดยอาศัยกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิก ถือว่ากฎหมายบริวารถูกยกเลิกไปโดยปริยาย




เเบบทดสอบ